Xspring Knowldge เลือกลงทุนอย่าง Warren Buffet ด้วยไอเดียป้อมปราการ (MOAT)




ในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน สินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า โดยภาพรวมของตลาดทุน ทั้งหุ้นและกองทุนในปีที่ผ่านมานั้นยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 2565 ถึงปัจจุบัน (2566) ดังนั้นในภาวะการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขนาดนี้จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนที่มากขึ้น

หนึ่งวิธีในการเลือกลงทุนที่จะมาแนะนำในวันนี้ คือการวิเคราะห์ภาพรวมของแต่ละบริษัท รวมไปถึงการเทียบเคียงบริษัทที่น่าสนใจกับบริษัทอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อมองหา “ความได้เปรียบทางการแข่งขัน (competitive advantage)” หรือการที่บริษัทมีความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ เช่นสามารถตั้งราคาขายสินค้าได้ในราคาสูง หรือมีต้นทุนการพัฒนาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่ง หรือการที่บริษัทคู่แข่งจะก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมได้ยาก ซึ่งในอีกทางนั้น ธุรกิจที่มีความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันจะเรียกได้ว่ามีป้อมปราการ อย่างคูเมือง (moat) มาเป็นเกราะกำบังการโจมตีจากคู่แข่ง ประหนึ่งกับการสู้รบในสนามเชิงธุรกิจ

รู้จักโมเดล MOAT เพื่อการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าคำว่า moat คือเกราะป้องกันจากศัตรูเมืองอื่นไม่ให้เข้ามาบุกรุก แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เกราะป้องกันในที่นี้คือ โครงสร้างธุรกิจที่บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Excess economic returns) เป็นระยะเวลานาน ทำให้มีโอกาสในการเติบโตในอุตสาหกรรมในระยะยาว จากสภาพคล่องของเงินลงทุนที่บริษัทลงทุนไป และผลตอบแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นตามเวลา

แล้วอะไรล่ะที่ไม่ได้บ่งบอกถึงบริษัทที่มี Moat?
อย่างแรกเลยที่ไม่ได้เป็นปัจจัยที่นับว่าบริษัทมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน คือ ขนาดส่วนแบ่งของตลาด หรือ market share ที่สูง เพราะไม่ได้บ่งบอกถึงความน่าจะเป็นที่บริษัทจะเติบโตในระยะยาว รวมทั้งสินค้าที่นิยมเป็นช่วงๆ ก็ยากที่จะมีผลตอบแทนที่ยั่งยืน เนื่องจากมีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนจากเงินทุนในช่วงเวลาสั้นเท่านั้น
นอกจากนี้สินค้าและบริการที่ต้องใช้กระบวนการที่คิดค้นใหม่ขึ้นมา อย่างสินค้าด้านเทคโนโลยี ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้เป็นบริษัทที่มี Moat เนื่องจากสามารถลอกเลียนแบบได้เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเช่นกัน
อย่างที่เห็นว่า การที่บริษัทมีคูเมือง หรือ economic moat ที่แข็งแกร่งนั้นสามารถดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้ เพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนในยุคเวลาที่ตลาดผันผวนแบบนี้ ดังนั้นก่อนที่จะลงทุนกับบริษัทใด บริษัทหนึ่ง เราควรจะมองถึงข้อได้เปรียบต่างๆ ของธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้นๆ และรู้ถึงที่มาของ moat เพื่อวิเคราะห์ว่าบริษัทนี้ควรลงทุนในระยะยาวหรือไม่

แน่นอนว่าการมีป้อมปราการที่แข็งแรง ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่ทุกบริษัทจะสามารถสร้าง moat ขึ้นมาได้ในชั่วพริบตา และการค้นหาบริษัทที่มี moat นั้นมีรายละเอียดนอกเหนืองบการเงินหรือผลประกอบการที่ต้องคำนึงถึง โดยสามารถสรุปความได้เปรียบทางการแข่งขันจากที่มาของคูเมือง (Source of Moat) ดังนี้

1. Intangible assets หรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ อย่างแบรนด์ สิทธิบัตร และใบอนุญาต หากยกตัวอย่างความเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักและนิยม แบรนด์จะสามารถดึงความสนใจลูกค้าและเพิ่มความสมัครใจ ลดความลังเลในการซื้อสินค้า
2. Switching costs หรือต้นทุนจากการเปลี่ยนแปลงการใช้สินค้าไปยังสินค้าของคู่แข่ง ต้นทุนในที่นี้รวมทั้งเวลาและเงินที่ต้องสูญเสียเมื่อลูกค้าเปลี่ยนไปซื้อของเจ้าอื่น จึงทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นได้
3. Network effect หรืออิทธิพลจากเครือข่าย คือการที่ลูกค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ใช้สินค้าหรือบริการมากขึ้น จึงทำให้มูลค่าของตัวสินค้าหรือบริการนั้นเพิ่มขึ้น เมื่อมีลูกค้ามากขึ้น บริษัทก็สามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายให้เป็นที่รู้จักและโตอย่างรวดเร็ว
4. Cost advantage หรือการที่บริษัทสามารถลดต้นทุนได้อย่างยั่งยืน 
5. Efficient scale หรือการที่ตลาดมีขนาดที่จำกัดผู้เล่นหน้าใหม่ไม่สามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้ หรือทำได้ยาก ทำให้สินค้าหรือบริการสามารถผลิตได้เพียงไม่กี่บริษัท ซึ่งก่อให้เกิด barrier entry ที่บริษัทหน้าใหม่ไม่กล้าลงทุนในอุตสาหกรรมเพราะผลตอบแทนในตลาดต่ำกว่าต้นทุนค่าใช้จ่าย

นอกเหนือจากจุดสังเกตของบริษัทที่มีป้อมปราการทางธุรกิจหรือ moat แล้วนั้น อีกจุดหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลยคือความแข็งแกร่งของป้อมปราการ เปรียบได้ดั่งความสูงของกำแพงคูเมืองที่ยิ่งสูงศัตรูก็จะยิ่งปีนเข้ามาได้ยากมากขึ้น โดยการแบ่งระดับของบริษัทที่มี moat ได้เป็น 3 ช่วง คือ บริษัทที่ไม่มีคูน้ำเลย (none) บริษัทที่มีความสามารถน้อยในการกันคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน (narrow) และบริษัทที่มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันสูง (wide) โดยเกณฑ์ปกติในการแบ่งระดับของบริษัทที่มีคูน้ำ moat คือระยะเวลาที่บริษัทมีข้อได้เปรียบ (competitive advantage) หากสามารถกันคู่แข่งได้มากกว่า 20 ปี ถือเป็น wide moat (ป้อมปราการแน่นหนา ยากแก่การโจมตี) แต่ถ้าแค่ 10 ปีก็จะตกอยู่ในระดับ narrow moat (ป้อมปราการทางธุรกิจยังไม่ถือว่าแข็งแกร่งนัก)

ข้อควรคำนึงอีกหนึ่งข้อคือปริมาณของบริษัทที่มี moat ไม่ได้มีจำนวนเท่ากันในทุกอุตสาหกรรม แต่ละอุตสาหกรรมมีปัจจัยในการแข่งขันที่ต่างกัน ทำให้อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง จะมีปริมาณบริษัทที่มี moat น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมวัสดุพื้นฐาน (basic materials)

โดยทาง morning star ได้กล่าวถึงข้อได้เปรียบของบริษัทที่มีป้อมปราการหรือ moat ผ่านมิติด้านปริมาณ ไว้ 4 ข้อหลักคือ
•    โอกาสน้อยที่บริษัทคู่แข่งเข้ามาแข่ง เนื่องจากได้สร้างกำแพงกีดขวางที่สูง (high entry barrier) จากข้อได้เปรียบด้านต้นทุน
•    ความสามารถที่จะลงทุนเงินทุนในปริมาณมากและได้อัตราผลตอบแทนที่สูง ซึ่งทำให้บริษัทได้กำไรสุทธิ (Earnings) เร็วขึ้นและกระแสเงินสดคล่องขึ้น
•    กระแสเงินทุน (Capital Flow) ที่มีสภาพคล่อง ซึ่งทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงและในระยะยาว 
•    บริษัทมีความเสี่ยงน้อยในการลงทุนเพราะกระแสเงินสดสามารถคาดการณ์ได้

โดยสรุปแล้วผลลัพธ์ของบริษัทที่มีคูเมือง (moat) ที่ดีคือการที่บริษัทนั้นสามารถบริหารเงินทุนที่หามาได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในการดำเนินงานและลงทุน ที่ดูได้จากอัตราส่วนผลตอบแทนของเงินลงทุน (Return on Invested Capital) หากบริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนของเงินลงทุนสูง ก็หมายถึงบริษัทมีความสามารถในการสร้างมูลค่าบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นด้วย 

ดั่งที่ Warren Buffet หนึ่งในนักลงทุนระดับโลกได้กล่าวถึง moat ไว้ว่าการมีคูเมืองที่แข็งแกร่งคือปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนซึ่งแสดงถึงข้อได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทในระยะยาว
The Key to investing is not assessing how much an industry is going to affect society, or how much it will grow, but rather determining the competitive advantage of any given company and, above all, the durability of that advantage. (Warren Buffet, 1999, Fortune Magazine)

Sources:

โดย พรพิชชา สุขยางค์
ฝ่าย Product Strategy and Development
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด