เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองทุน Thai ESGX




กองทุน Thai ESGX เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทยซึ่งผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ ESG (Environmental, Social, and Governance) หรือ “สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” โดยมุ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

  • ทั้งกองทุน Thai ESG และกองทุน Thai ESGX ต่างเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือโทเคนดิจิทัล โดยคำนึงถึงหลัก ESG (Environment, Social และ Governance) โดยทั้ง 2 กองทุนมีความแตกต่างกันดังนี้



นโยบายการลงทุน

Thai ESG   : ลงทุนในทรัพย์สินที่ออกโดยผู้ออกหรือกิจการในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติด้านความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

Thai ESGX  : (1) ลงทุนในทรัพย์สินที่ออกโดยผู้ออกหรือกิจการในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติด้านความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV และ

(2) ในสัดส่วน 80% นั้น ต้องเป็นหุ้นกลุ่มความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV 

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

Thai ESG  : (1) ปี 2567 - 2569 : ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดยถือครอง 5 ปีนับแต่วันที่ลงทุน (นับแบบวันชนวัน) 

(2) ปี 2570 - 2575 : ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยถือครอง 8 ปีนับแต่วันที่ลงทุน (นับแบบวันชนวัน)

Thai ESGX : (1) วงเงินลดหย่อนที่ 1 - เงินใหม่เฉพาะปี 2568 (สำหรับผู้ลงทุนรายใหม่ที่ลงทุนในกองทุน Thai ESGX) : ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดยถือครอง 5 ปีนับแต่วันที่ลงทุน (นับแบบวันชนวัน)  

(2) วงเงินลดหย่อนที่ 2 - สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม (สำหรับผู้ลงทุนที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม มาเป็นกองทุน Thai ESGX) : รวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 500,000 บาท (ไม่มีเงื่อนไข 30% ของเงินได้พึงประเมิน) โดยถือครอง 5 ปีนับแต่วันที่แจ้งความประสงค์สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF มาเป็น Thai ESGX (นับแบบวันชนวัน) โดยแบ่งการใช้สิทธิลดหย่อนดังนี้

- ปี 2568 : สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท

- ปี 2569 - 2572 : ให้ได้รับยกเว้นเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี

  • สำหรับการลงทุนในกองทุน Thai ESG ในปี 2568 ผู้ลงทุนมีสิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 900,000 บาท แบ่งเป็น

(1) Thai ESG 300,000 บาท

(2) Thai ESGX 300,000 บาท (เงินใหม่เฉพาะปี 2568) และ

(3) Thai ESGX (สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เดิม) 300,000 บาท 

โดยการกำหนดเพดาน 30% ของเงินได้พึงประเมินนั้น จะเป็นเงื่อนไขเฉพาะเงินใหม่ที่ซื้อหน่วยลงทุน Thai ESG และ Thai ESGX (ก้อนที่ (1) และ (2)) สำหรับวงเงินลดหย่อนสำหรับการสับเปลี่ยนหน่วย LTF เดิม (ก้อนที่ (3)) นั้น จะไม่มีการกำหนดเพดาน 30% ของเงินได้พึงประเมิน

วงเงินลดหย่อนในปี 2568 ของ (1) Thai ESG จำนวนสูงสุด 300,000 บาท (2) Thai ESGX เงินใหม่ จำนวนสูงสุด 300,000 บาท และ (3) Thai ESGX วงเงินสับเปลี่ยน LTF เดิม จำนวนสูงสุด 300,000 บาท สำหรับปี 2568 รวมทั้งสิ้น 900,000 บาท  แยกจากวงเงินลดหย่อนของ RMF

หน่วยลงทุนชนิด SSF ที่อยู่ภายใต้ LTF จะไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการนี้

ยอดสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF มาเป็น Thai ESGX เป็นจำนวน 350,000 บาท จะแบ่งการใช้สิทธิลดหย่อน300,000 บาท สำหรับปีภาษี 2568 โดยสำหรับปีภาษี 2569 - 2572 ให้ได้รับยกเว้นเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี กล่าวคือ ปีละ 12,500 บาท

การซื้อหน่วย Thai ESGX ตั้งแต่ปี 2569 จะถือว่าเป็นวงเงินลดหย่อนเดียวกับวงเงินลดหย่อน Thai ESG เดิม โดยวงเงินลดหย่อนของ Thai ESG ในปี 2569 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท และต้องถือครองหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลา 5 ปี (นับแบบวันชนวัน)

หน่วยลงทุน LTF ที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้มาตรการ Thai ESGX ต้องเป็นหน่วยลงทุน LTF ที่ถืออยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว (วันที่ 11 มีนาคม 2568) หน่วยลงทุน LTF ที่ซื้อภายหลังวันที่ 11 มีนาคม 2568 จะไม่ถูกนับรวมเป็นหน่วยลงทุน LTF ที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้มาตรการ Thai ESGX

หากผู้ถือหน่วยลงทุน LTF ประสงค์จะใช้สิทธิประโยชน์วงเงินลดหย่อนที่ 2 จะต้องไม่ขายหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไปยัง LTF อื่นภายหลังวันที่ 11 มีนาคม 2568 โดยจะต้องใช้วิธีสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ดังกล่าวไปเป็นหน่วยลงทุน Thai ESGX เท่านั้น

ผู้ถือหน่วยลงทุน LTF สามารถทยอยส่งคำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF เป็น Thai ESGX ได้ เพียงแต่ต้องทำรายการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ให้ครบภายในระยะเวลา 2 เดือนที่กำหนด (พฤษภาคม - มิถุนายน 2568) โดยในกรณีดังกล่าว การเริ่มนับระยะเวลาถือครอง 5 ปีจะไม่เท่ากัน โดยจะนับจากวันที่แจ้งการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ในแต่ละครั้ง

ลูกค้าสามารถใช้สิทธิสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดเอคควิตี้โปร หุ้นระยะยาว (EP-LTF) ไปยังกองทุน Thai ESGX ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการดังต่อไปนี้

1) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด 
2) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด
3) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 

โดยการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนดังกล่าวมีขั้นตอนดังนี้ : 
1) แจ้งความประสงค์ต่อผู้แนะนำการลงทุน
2) กรณีลูกค้ายังไม่มีบัญชีกองทุนรวมที่เปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด ลูกค้าจะต้องดำเนินการเปิดบัญชีกองทุนรวมเพิ่มเติม โดยกรอกข้อมูลในหนังสือแสดงความประสงค์ในการเปิดบัญชีเพิ่มเติม พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องสำหรับการเปิดบัญชี


ข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต. ณ วันที่ 11 มีนาคม 2568
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน