• Employee’s Choice อีกทางเลือกการลงทุน

    10 /07/2021



    การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

    เป็นแหล่งเงินออมเพื่อเกษียณที่สำคัญของลูกจ้าง เริ่มต้นจากความสมัครใจ แต่เมื่อเข้าร่วมไปแล้ว จะกลายเป็นการออมเงิน “ภาคกึ่งบังคับ” ทันทีเพราะนายจ้างจะหักเงินเดือนให้ลูกจ้างลงทุนอย่างมีวินัยทุกเดือนก่อนเอาไปใช้ ในอดีตลูกจ้างที่เข้าร่วมอาจชอบแนวคิดของการออมก่อนใช้ แต่ก็ขัดใจที่ไม่สามารถเลือกลงทุนให้ตรงวัตถุประสงค์ของตนได้เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใช้แนวคิดเรื่อง “One solution fits all” หรือหนึ่งนโยบายการลงทุนเพื่อคนทั้งบริษัท ซึ่งวัตถุประสงค์การลงทุนของผู้บริหารระดับสูงวัยกลางคน พนักงานใหม่ (First Jobber) ที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง และคุณป้าแม่บ้านใกล้เกษียณย่อมแตกต่างกัน และนโยบายดังกล่าวมักเน้นลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งแลกมาด้วยผลตอบแทนคาดหวังที่ต่ำ ทำให้ลูกจ้าง (โดยเฉพาะกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้สูง) จำใจลงทุน เพราะอยากได้เงินสมทบจากบริษัท แต่อาจไม่อยากลงทุนมาก เพราะ “ไม่ใช่แนว” ไม่ตอบโจทย์ เสียโอกาสและไปลงทุนทางเลือกอื่นดีกว่า ซึ่งในหลายครั้งอาจไม่ได้ลงทุน และจบลงที่กระเป๋าใบใหม่ หรือทริปท่องเที่ยวแทนแต่ทุกวันนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ให้ทางเลือกในการลงทุนตามนโยบายที่ลูกจ้างต้องการ (Employee’s Choice) จึงเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดที่หลายคนเคยมองว่า “ไม่ใช่แนว” ให้กลับมามีบทบาทสำคัญในการวางแผนเพื่อเกษียณ ซึ่งจุดเด่นของ Employee’s Choice ได้แก่

    1. ทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย: Employee’s Choice ให้ทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Class) หลายประเภท (ความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ถ้าเทียบกับกองทุนยอดฮิตของลูกจ้างอย่าง LTF/RMF Employee’s Choice ให้ทางเลือกที่หลากหลายกว่า LTF (ซึ่งมีแต่หุ้นในประเทศ) แต่น้อยกว่า RMF

    2. การจัด Portfolio แบบ DIY: Employee’s Choice ให้โอกาสลูกจ้างได้จัดเงินลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของตน ถ้าเทียบกับอาหาร จะมีทางเลือกทั้งแบบ Set Menu (จัด Portfolio สำเร็จมาให้ลูกจ้างเลือกแบบที่ถูกใจ) และแบบ Àla carte (ให้ลูกจ้างจัด Portfolio เอง แต่อาจคุมสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทอง หรืออสังหาริมทรัพย์ และคุมความหลากหลายไม่ให้มากเกินไป)

    3. Dollar Cost Average ( DCA ): DCA ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ที่กล่าวถึงเพราะวินัยการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน เพราะไม่ว่าเราจะมีทางเลือกการลงทุนหรือเครื่องมือในการลงทุนที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าขาดวินัยในการลงทุน ย่อมบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ยาก Employee’s Choice นอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีวินัยการลงทุนแบบ DCA แล้ว ยังให้โอกาสลูกจ้างเปลี่ยนการ กระจายการลงทุน (Allocation) ของเงินลงทุนใหม่ที่สะสมทุกเดือน ซึ่งเปลี่ยนได้บ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน

    4. การสับเปลี่ยนกองทุน (Fund Switching): Employee’s Choice อนุญาตให้ลูกจ้างสับเปลี่ยนกองทุนใน Portfolio ของตนได้ (ความถี่ขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน) ซึ่งตอบโจทย์ลูกจ้างที่อยากจับจังหวะการลงทุนได้ การสับเปลี่ยนก็ทำได้ง่ายๆ ผ่าน website ของบลจ.ที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

    จะเห็นว่าการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Employee’s Choice มีความยืดหยุ่นสูงขึ้นมาก เหมาะสมที่จะใช้จัด portfolio เพื่อวางแผนเกษียณ แต่สำหรับหลายๆ คน การลงทุนใน Employee’s Choice คงไม่ใช่แหล่งเงินลงทุนเพื่อเกษียณเพียงแหล่งเดียว อาจมีการลงทุนใน LTF RMF และกองทุนทั่วไปร่วมด้วย ดังนั้นต้องไม่ลืมที่จะมองภาพใหญ่ก่อนว่าควรกระจายการลงทุนทั้งหมดในแต่ละ Asset Class อย่างไร แล้วจึงจัดสรรการลงทุนในแต่ละ Asset Class ไปที่แหล่งต่างๆ รวมถึง Employee’s Choice ต่อไป

    source : นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนตุลาคม 2561

    ธัญญพัทธ์ วรวงษ์สถิตย์ CFA, CFP®

    
    COOKIES

    บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด มีนโนบายใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคล และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และการตั้งค่าคุกกี้ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้ (Cookies Policy)

    ยอมรับ
    การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือภาษีให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุน
    © 2019 XSPRING ASSET MANAGEMENT COMPANY LIMITED ALL RIGHT RESERVED.